พระประวัติ

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ (เทวกุล) บริพัตร ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ณ วังบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย)

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ตามเสด็จครอบครัวไปประทับที่ชวาและประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จกลับมายังประเทศไทย

 

จากนั้นหม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2483 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องย้ายสถานศึกษาไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบครัวของหม่อมเจ้ามารศีฯ จึงได้อพยพไปประทับที่บ้านบ่อจืด ซึ่งเป็นตำหนักส่วนพระองค์ของพระบิดาที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน และทรงจักรยานไปโรงเรียนซึ่งอยู่บริเวณพระราชวังไกลกังวลทุกวัน กล่าวได้ว่าชีวิตในช่วงนั้นของท่านเป็นที่ตื่นเต้นสนุกสนานและประทับพระทัยเป็นอย่างยิ่ง หัวหินจึงเสมือน “บ้านที่ 2” ที่ฝังพระทัยตลอดมา และโปรดเสด็จไปประทับที่นั่นทุกคราวที่มีโอกาส

 

 

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลงและหลังท่านหญิงมารศีฯ ทรงจบการศึกษาในระดับมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนมาแตร์ เดอีวิทยาลัยแล้ว ท่านได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และประเทศสเปน ตามลำดับ

หม่อมเจ้ามารศีฯ ในบทบาทนักวิชาการ

หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงได้รับปริญญา Docteur ès Lettres สาขาวรรณคดี (หัวข้อวิทยานิพนธ์:Le Romantisme Contemporain) จากมหาวิทยาลัย ณ กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2497 หลังจากนั้นทรงได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน (หัวข้อวิทยานิพนธ์: Bases sociales, technicas y espirituales de la Pintura Paisajista en Chine) ในปี พ.ศ. 2502 หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงเริ่มต้นชีวิตการทำงานในแวดวงวิชาการ ทรงสอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกล ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาดริดอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ทรงเป็นอาจารย์พิเศษวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หม่อมเจ้ามารศีฯ ในบทบาทศิลปิน

แม้ว่าหม่อมเจ้ามารศีฯ จะทรง “มีแวว” ด้านการวาดภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ก็มิได้เข้าสู่วงการศิลปะอย่างจริงจังกระทั่งทรงมีพระชนมายุราว 30 ปี ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2502 หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงยุติการทำงานด้านวิชาการและทรงเริ่มศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เองจากงานศิลปะของบรรดาศิลปินต่างๆ ทรงได้รับคำแนะนำหลักการวาดภาพจิตรกรรมยุคเรอเนอซองซ์ และเทคนิคการใช้สีจาก André Poujet และเพื่อนศิลปินต่างๆ อีกหลายท่าน จากนั้นหม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงร่วมกับกลุ่มศิลปินในประเทศฝรั่งเศสจัดแสดงภาพในนิทรรศการ Salon Comparaisons ณ Musée de L’ Art Moderne ในกรุงปารีสหลายครั้งในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2507–2515 อีกทั้งยังร่วมกับศิลปินกลุ่ม L’ Art Fantastique ในนิทรรศการ Figuratif de l’ Imaginaire Surreal ซึ่งเป็นงานศิลปะที่แสดงอารมณ์ ความนึกคิด และจินตนาการในลักษณะที่ท่านโปรด และทรงมีผลงานจัดแสดงอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2520 หม่อมเจ้ามารศีฯ ได้จัดแสดงภาพเขียนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่หอศิลป์พีระศรี

หม่อมเจ้ามารศีฯ ในประเทศฝรั่งเศส

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงสมรสกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Jacques Bousquet ซึ่งประจำการอยู่ที่องค์การ UNESCO กรุงมาดริด ประเทศสเปน ต่อมาเมื่อท่านทรงจัดแสดงนิทรรศการศิลปะในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จึงทรงย้ายไปประทับ ณ กรุงปารีส ทรงจัดแสดงภาพในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างๆ ทางใต้ของประเทศฝรั่งเศส และได้เสด็จไปพบเมืองเล็กๆ ชื่อ Annot ซึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขา Alpes des Haute Provence ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Nice ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมือง Annot และตัดสินพระทัยที่จะสร้างสตูดิโอและประทับที่พระตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวรนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา
ขณะประทับที่เมือง Annot หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงจัดแสดงภาพเขียนในนิทรรศการต่างๆ ในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสหลายแห่ง อาทิ Antibes, Vence, Nice, Le Havre, Menton และ Monaco กระทั่งทรงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มศิลปินภายในภูมิภาค
นอกจากงานศิลปะแล้ว หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงโปรดปรานการทำสวน มีใจรักในเสียงดนตรีและสัตว์เลี้ยงทุกประเภท อีกทั้งยังทรงพระปรีชาด้านการทำอาหารเป็นอย่างยิ่ง พระตำหนัก “Vellara” ของท่านแวดล้อมไปด้วยอากาศบริสุทธิ์และความงามแห่งธรรมชาติจากดอกไม้ ป่าไม้ และสายน้ำลำธาร ภายในพระตำหนักเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและความมีชีวิตชีวาของสัตว์เลี้ยง สุนัข และนก ซึ่งเป็นเสมือนครอบครัวของท่านที่เป็นองค์ประกอบหลักในภาพเขียนของท่านเสมอมา หน้าต่างบานใหญ่ของสตูดิโอทรงงานเปิดรับแสงแดดนวลตาจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นแสงในอุดมคติสำหรับการวาดภาพ บรรยากาศขณะทรงงานขับกล่อมด้วยเสียงดนตรีโอเปร่าและดนตรีคลาสสิก ผสานบทเพลงจากนกน้อยที่โบยบินอย่างอิสระภายในสตูดิโอ
เมื่อหม่อมเจ้ามารศีฯ ประชวรจากอาการเส้นเลือดอุดตันในสมองในปี พ.ศ. 2547 จึงไม่ทรงสามารถวาดภาพได้เช่นเดิม ทรงใช้เวลาในช่วงบั้นปลายชีวิต ณ พระตำหนัก “Vellara” ท่ามกลางธรรมชาติ เสียงดนตรี และสัตว์เลี้ยง จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 การถวายพระเพลิงดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ณ สุสาน Crématorium de Nice-Côte d’Azur เมือง Colomars ซึ่งอยู่ใกล้กับเมือง Nice ประเทศฝรั่งเศส พระอัฐิส่วนหนึ่งนำไปประทับในบริเวณพระตำหนัก “Vellara” อีกส่วนหนึ่งอัญเชิญมาบรรจุไว้ ณ อนุสาวรีย์สุขุมาลย์นฤมิตร์ สุสานหลวง วัดราชบพิธมหาสีมารามราชวรวิหาร ท่ามกลางพระสรีรางคารบรรพบุรุษของท่าน